วิธีใช้งานชุดปะยางฉุกเฉินที่แถมมากับรถ และข้อดีข้อเสียที่คุณต้องรู้
ปัจจุบันชุดปะยางฉุกเฉิน เป็นอุปกรณ์ที่ค่ายรถหลาย ๆ ค่ายได้นำมาทดแทนยางอะไหล่แล้วในรถยนต์หลาย ๆ รุ่นโดยเฉพาะรถยนต์ในกลุ่มอีโคคาร์ โดยแนวคิดนี้มาจากความพยายามที่จะลดน้ำหนักของรถยนต์ลงเพื่อให้ประหยัดน้ำมันได้มากขึ้น ตอบโจทย์ความเป็นอีโคคาร์ ประกอบกับเทคโนโลยีในปัจจุบันที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถมากขี้น ทำให้งานปะยางในเหตุการณ์ฉุกเฉินเป็นงานที่ง่ายดายมากเมื่อเทียบกับในยุคก่อน ๆ
เรามาทำความรู้จักกับ ชุดปะยางฉุกเฉิน ที่ติดมากับรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ กันว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร และจะสามารถทำหน้าที่ได้ดีเทียบเท่าหรือดีกว่ายางอะไหล่แค่ไหน
ชุดปะยางฉุกเฉินคืออะไร
ชุดปะยางฉุกเฉิน คือ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับซ่อมยางรถยนต์เป็นการเบื้องต้น ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น ตะปูตำยางจนทำให้เกิดการรั่วซึมของลมยาง โดยเน้นไปที่งานซ่อมแซมส่วนของหน้ายางที่สัมผัสกับผิวถนนเป็นหลัก เพื่อให้รถสามารถแล่นต่อไปยังร้านปะยางซึ่งมีอุปกรณ์มาตรฐาน และช่างผู้ชำนาญการ ที่จะจัดการปะซ่อมยางรถยนต์ให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมอีกครั้ง
ทั้งนี้ชุดปะยางฉุกเฉินยังมีแบบที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์แบบที่ใช้วิธีที่เรียกว่าแทงหนอน หรือแทงยาง ซึ่งอาจจะใช้งานยากกว่าชุดปะยางฉุกเฉินแบบใช้ปั๊มลมไฟฟ้ากับน้ำยาปะยางที่แถมมากับรถยนต์รุ่นต่าง ๆ
วิธีการใช้งานชุดปะยางฉุกเฉินที่แถมมากับรถ
อุปกรณ์หลักของชุดปะยางฉุกเฉินมีเพียง 2 ชิ้นเท่านั้น ประกอบด้วย ปั๊มลมไฟฟ้า กับ น้ำยาปะยาง วิธีใช้งานก็ง่าย เพียงแค่ประกอบกระปุกน้ำยาเข้ากับปั๊มลมไฟฟ้า แล้วนำไปต่อกับจุ๊บลมของยางที่รั่วซึม จากนั้นก็ต่อสายไฟของเครื่องปั๊มลมไฟฟ้าเข้ากับช่องจุดบุหรี่ในรถแล้วก็เปิดสวิทช์ เครื่องจะทำงานโดยอัตโนมัติ
หลักการทำงานของชุดปะยางฉุกเฉินเครื่องการเป่าน้ำยาให้เข้าไปเคลือบด้านในของยาง โดยตัวน้ำยาจะมีความหนืดและแข็งตัวเพื่ออุดรูรั่วบริเวณหน้ายางด้านใน อาศัยแรงเหวี่ยงในขณะขับรถเพื่อเกลี่ยน้ำยาให้ไหลไปทั่วผิวยาง นั่นหมายความว่าน้ำยาไม่ได้เข้าไปอุดรูรั่ว แต่เข้าไปเคลือบผิวยางด้านในไว้ทั้งหมด
ข้อดีข้อเสียและข้อควรระวัง
- ข้อดีคือใช้งานง่ายมาก ใช้เวลาซ่อมแซมนิดเดียว และที่สำคัญไม่เหนื่อยไม่ต้องออกแรงเหมือนเปลี่ยนยางอะไหล่แน่นอน ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ใช้รถคนเดียวก็สามารถทำได้ง่าย ส่วนข้อเสียคือไม่สามารถซ่อมแซมรูรั่วที่เกิดขึ้นที่แก้มยางได้ ส่วนในกรณียางระเบิดนั่น ถือเป็นอุบัติเหตุร้ายแรง ซ่อมเองไม่ได้แน่นอน ต้องเปลี่ยนยางใหม่อย่างเดียว
- ข้อควรระวังในการขับขี่หลังจากที่ซ่อมแซมเรียบร้อยแล้วคือ ไม่ควรขับเร็วเกิน 80 กม./ชม. และระยะทางไม่เกิน 80 กม. ควรรีบเข้าศูนย์หรืออู่รถยนต์เพื่อตรวจสอบยางทันที
อย่างไรก็ดี ในกลุ่มผู้ใช้รถก็ยังถกเถียงกันว่า ค่ายรถควรให้ยางอะไหล่มากับรถเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะในการขับขี่ในระยะทางไกลเช่นการออกทริปต่างจังหวัด หากเกิดอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง ชุดปะยางฉุกเฉินก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก ในขณะเดียวกัน บางคนขับรถอยู่แต่ในเมือง ขับมาเกือบสิบปีไม่เคยเปิดยางอะไหล่มาใช้เลยก็มี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น